วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
ข่าวรอบโลก

พายุสุริยะพัดเข้าใส่โลก หลังเกิดปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ 5 ดวง เรียงตัวเป็นแนวเดียวกัน

29 มิถุนายน 2022

รูปโลกโดนไฟเผา

เว็บไซต์ Spaceweather.com รายงานว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้เกิดพายุสุริยะลูกหนึ่งพัดเข้าใส่โลกอย่างกะทันหัน ชนิดที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้ามาก่อน โดยพายุสุริยะนี้เกิดขึ้นหลังมีปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ 5 ดวงเรียงตัวเป็นแนวเดียวกัน และจุดมืดยักษ์บนดวงอาทิตย์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

นักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามความเคลื่อนไหวดังกล่าวของดวงอาทิตย์ระบุว่า พายุสุริยะเกิดขึ้นเมื่อเวลาก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย ตามเวลาสากลเชิงพิกัดหรือ UTC และยังดำเนินต่อไปในวันที่ 26 มิ.ย.เกือบทั้งวัน โดยมีความเร็วลมสุริยะสูงสุด 2.52 ล้าน กม./ชม. แต่ยังไม่มีการรายงานผลกระทบต่อระบบโทรคมนาคมหรือระบบจ่ายไฟฟ้าแจ้งเข้ามาแต่อย่างใด

ผู้เชี่ยวชาญจัดให้พายุสุริยะดังกล่าวอยู่ในชั้น G1 ซึ่งหมายถึงพายุที่อาจก่อให้เกิดการรบกวนต่อระบบพลังงาน ดาวเทียม และระบบโทรคมนาคมของโลกได้เล็กน้อย ทั้งยังอาจรบกวนการนำร่องหรือการค้นหาทิศทางของสัตว์ย้ายถิ่นได้บ้าง

อย่างไรก็ตามพายุสุริยะชั้น G1 ทำให้เกิดแสงเหนือหรือออโรราที่มีพลังรุนแรงผิดปกติและสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งในครั้งนี้มีช่างภาพดาราศาสตร์มือสมัครเล่นที่เมืองคาลการี (Calgary) ของแคนาดา สามารถบันทึกภาพออโรราจากพายุสุริยะของวันที่ 26 มิ.ย. เอาไว้ได้

พายุสุริยะที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันนี้ ตรงกับช่วงเวลาที่เกิดปรากฎการณ์ดาวเคราะห์ 5 ดวง ได้แก่ดาวพุธ ศุกร์ อังคาร พฤหัสบดี และดาวเสาร์ เรียงตัวในแนวเดียวกันตามลำดับความห่างจากดวงอาทิตย์ โดยจัดเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หายากที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานานถึง 18 ปีแล้ว และจะเกิดขึ้นครั้งต่อไปในปี 2040

แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่ทราบถึงสาเหตุของพายุสุริยะครั้งล่าสุดนี้ แต่เมื่อปี 2019 มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Solar Physics เสนอแนวคิดที่ว่า การเรียงตัวของดาวเคราะห์บริวารอาจทำให้เกิดแรงโน้มถ่วงที่ทรงพลัง ซึ่งจะส่งผลให้บรรยากาศของดวงอาทิตย์ปั่นป่วน และเกิดการปะทุพลังงานในระดับสูงสุดทุก 11.7 ปี ซึ่งตรงกับรอบของ “วัฏจักรสุริยะ” (Solar Cycle) นั่นเอง

จุดมืดใหญ่บนดวงอาทิตย์ขยายตัวเป็นสองเท่าเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ภาพจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติลังกาวี (LNO) ของมาเลเซีย
คำบรรยายภาพ,จุดมืดใหญ่บนดวงอาทิตย์ขยายตัวเป็นสองเท่าเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ภาพจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติลังกาวี (LNO) ของมาเลเซีย

ก่อนเกิดพายุสุริยะครั้งล่าสุดไม่ถึงสัปดาห์ มีผู้พบว่าจุดมืด AR3038 บนดวงอาทิตย์ ได้ขยายขนาดขึ้นอย่างรวดเร็วจนใหญ่กว่าโลก 2.5 เท่า ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ทำให้คาดกันว่าจะมีการปลดปล่อยมวลโคโรนา (CME) ซึ่งเป็นพลาสมาหรือก๊าซร้อนมีประจุไฟฟ้าพลังสูงจากบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ ในทิศทางที่น่าจะพุ่งตรงมายังโลกและสร้างความเสียหายใหญ่หลวง

โชคดีที่ในเวลาต่อมา ตำแหน่งของจุดมืดดังกล่าวได้เคลื่อนไปเนื่องจากการหมุนของดวงอาทิตย์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดว่าพายุสุริยะที่พัดเข้าใส่โลกครั้งล่าสุดนี้ น่าจะมาจากบริเวณที่เรียกว่า Co-rotating Interaction Region (CIR) หรือจุดเปลี่ยนแปลงความเร็วของลมสุริยะ มากกว่าจะเป็นการปะทุพลังงานโดยตรงจากจุดมืดขนาดยักษ์ ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเกิดพายุสุริยะครั้งนี้หรือไม่ก็ได้